ประเภทเครื่องเป่า
เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงจากลมเป่า อุปกรณ์ดั้งเดิมได้จากพืช ได้แก่หลอดไม้ต่าง ๆ และจากสัตว์ ได้แก่ เขาสัตว์ต่างๆ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการด้วยการเจาะรูและทำลิ้น เพื่อให้เกิดระดับเสียงได้มาก เครื่องดนตรีเหล่านี้ ได้แก่ ขลุ่ยชนิดต่าง ๆ ปี่ ชนิดต่าง ๆ และแคน เป็นต้น





ขลุ่ย
            เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า มักทำจากไม้รวก ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง และงาช้าง แต่ที่ทำจากไม้รวกจะให้เสียงนุ่มนวล ไพเราะกว่า ขลุ่ยมี ๕ ชนิด คือ ขลุ่ยกรวด ขลุ่ยนก ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยหลีบ และขลุ่ยอู้ ขลุ่ยมีส่วนประกอบดังนี้
          - เลาขลุ่ย คือ ตัวขลุ่ย มีขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของขลุ่ย มักนิยมประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนตัวขลุ่ย เช่น ลายดอกพิกุล ลายหิน และลายลูกระนาด เป็นต้น
          - ดาก คือ ไม้อุดปากขลุ่ย นิยมใช้ในไม้สักทอง เหลากลมให้คับแน่นกับร่องภายในของปากขลุ่ย ฝานให้เป็นช่องว่าง ลาดเอียงตลอดชิ้นดาก ให้เป่าลมผ่านไปได้
          - รูเป่า เป็นรูสำหรับเป่าลมเข้าไป
          - รูปากนกแก้ว เป็นรูที่เจาะร่องรับลม จากปลายดากภายในขลุ่ย อยู่ด้านเดียวกับรูเป่า อยู่สุดปลายดากพอดี เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปากนกแก้วนี้ทำให้เกิดเสียง เทียบได้กับลิ้นของขลุ่ย
          - รูเยื่อ เป็นรูสำหรับบิดวัสดุที่ทำให้เสียงสั่นพริ้ว มักใช้เยื่อไม้ไผ่ หรือเยื่อหัวหอมปิด อยู่ด้านขวามือ
          - รูค้ำ หรือรูนิ้วค้ำ เป็นรูสำหรับให้นิ้วหัวแม่มือปิด เพื่อบังคับเสียง และประคองเลาขลุ่ยขณะเป่า อยู่ด้านล่างเลาขลุ่ย ต่อจากรูปากนกแก้วไปทางปลายเลาขลุ่ย
          - รูบังคับเสียง เป็นรูที่เจาะเรียงอยู่ด้านบนของเลาขลุ่ย มีอยู่ ๗ รู ด้วยกัน เสียงขลุ่ยเกิดจากเป่าลม และใช้นิ้วมือปิดเปิดรูบังคับเสียง
           - รูร้อยเชือก มี ๔ รู หรือ ๒ รูก็ได้ อยู่ทางส่วนปลายของเลาขลุ่ย โดยการเจาะทะลุบน-ล่าง และ ซ้าย-ขวา ให้เยื้องกันในแต่ละคู่
ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยขนาดกลาง ระดับเสียงต่ำสุดคือ เสียงโด ของไทย ใช้เป็นหลักเทียบเสียง ในวงเครื่องสาย เครื่องตี ถ้าเล่นกับวงมโหรี ขลุ่ยเพียงออต้องมีระดับเสียง ได้ระดับเดียวกับลูกฆ้องวงใหญ่ ลูกที่ ๑๐ ที่เรียกว่า ลูกเพียงออ
                ตัวอย่างการเล่น "ซอด้วง"




ขลุ่ยหลีบ เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก มีเสียงสูงแหลมเล็ก ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า เสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออขึ้นมา ๓ เสียง ใช้เป่าคู่กับขลุ่ยเพียงออ หรือขลุ่ยกรวด มีอยู่สองชนิด คือ ขลุ่ยหลีบเพียงออ และขลุ่ยหลีบกรวด

ขลุ่ยนก เป็นขลุ่ยพิเศษ ทำขึ้นเพื่อ เสียงสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะนก ใช้บรรเลง ประกอบในวงดนตรี เพื่อให้เกิดจินตนาการ ในการฟังเพลงได้ดียิ่งขึ้น บางครั้งยังใช้ ลิ้นปี่มาประกอบกับ ตัวขลุ่ยเพื่อเลียนเสียงไก่ ขลุ่ยพิเศษเหล่านี้นิยมใช้บรรเลง เพลงตับนก และตับภุมรินทร์


ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ ระดับเสียงต่ำสุด ต่ำกว่าระดับเสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออ ลงไปอีก ๒ เสียง ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

ปี่
           เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ปกติ เลาปี่ ทำด้วยไม้แก่น ต่อมามีผู้คิดทำด้วยงา โดยกลึงให้เป็นรูปบานหัว และบานท้าย ช่วงกลางป่อง ภายในกลวง ทางหัวใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็ก ทางท้ายปากรูใหญ่ ใช้งา ชัน หรือวัสดุอย่างอื่นมาหล่อเสริมตอนหัว และตอนท้าย เรียกว่า "ทวน" ทางหัวเรียกว่า "ทวนบน" ทางท้ายเรียกว่า "ทวนล่าง" ช่วงที่ป่องกลาง เจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียง เรียงลงมาตามข้างเลาปี่ จำนวน ๖ รู ที่รูเป่าตอนทวนบนใส่สิ้นสำหรับเป่าเรียกว่า ลิ้นปี่ ทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้น ตัดกลมผูกติดกับท่อกลมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "กำพวด" ทำด้วยโลหะ มีลักษณะเรียว วิธีผูกเชือกให้ลิ้นใบตาลติดกับกำพวดเรียกว่า "ผูกตะกรุดเบ็ด"

ปี่แต่เดิมคงจะใช้เป่านำวงดนตรี และใช้กับวงเครื่องตีเป็นพื้นจึงเรียกว่า วงปี่พาทย์ ปี่ไทยมีสามขนาดด้วยกันคือ ปี่นอกเป็นขนาดเล็ก ปี่กลางเป็นขนาดกลาง และปี่ในเป็นขนาดใหญ่

ปี่ไฉน เป็นปี่สองท่อน ถอดออกจากกันได้ ท่อนบนเรียงยาว ปลายผายออกเล็กน้อยเรียกว่า "เลาปี่" ท่อนล่างปลายบานเรียกว่า "ลำโพง" ทำด้วยไม้หรืองา ปี่ชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจาก เครื่องดนตรีของอินเดีย ซึ่งเป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยไม้ ไทยใช้ปี่ชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันใช้ในขบวนแห่ คู่กับปี่ชวา จ่าปีใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา


ปี่ชวา เป็นปี่สองท่อน รูปร่างลักษณะเหมือนปี่ไฉน แต่ยาวกว่า ทำด้วยไม้หรืองา เนื่องจากมีขนาดยาวกว่าปี่ไฉน จึงให้เสียงแตกต่างไปจากปี่ไฉน เข้าใจว่าไทยนำปี่ชวาเข้ามาใช้คราวเดียวกับ กลองแขก จากหลักฐานพบว่ามีการใช้ปี่ชวา ในกระบวนพยุหยาตรา ในสมัยอยุธยาตอนต้น

ปี่มอญ เป็นปี่สองท่อน เหมือนปี่ชวา แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่า เลาปี่ทำด้วยไม้ ลำโพงทำด้วยโลหะ ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ หรือสมัยก่อนเรียกว่า ปีพาทย์รามัญ


 
                  ที่มา ::   http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=banrakthai&date=22-08- 2008&group=11&gblog=1
ประเภทเครื่องตี

เครื่องตี เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิด เสียงดนตรีด้วยการใช้ของสองสิ่งกระทบกัน ด้วยการตี นับว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภท เก่าแก่ที่สุดที่ที่มนุษย์รู้จักใช้ ได้มีวิวัฒนาการจากอุปกรณ์ง่ายๆ ให้มี ความหลากหลายออกไปทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ สำหรับเครื่องดนตรีไทย ที่เป็นประเภทเครื่องตีมีตัวอย่างดังนี้
เครื่องตีที่ทำด้วยไม้


กรับเสภา ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม มีสันมน การตีใช้ขยับมือที่ละคู่ การขับเสภาใช้กรับสองคู่ ถือมือละคู่ ผู้ขับเสภาจะขยับกรับ สองคู่นี้ตามท่วงทำนองที่เรียกเป็นไม้ต่าง ๆ เช่น ไม้กรอ ไม้หนึ่ง ไม้รบ หรือไม้สี่



กรับพวง ทำด้วยไม้หรือโลหะ ลักษณะเป็นแผ่นบาง หลายแผ่นร้อยเข้าด้วยกัน ใช้ไม้หนาสองชิ้นประกับไว้ วิธีตี ใช้มือหนึ่งถือกรับ แล้วตีกรับลงไปบนอีกมือหนึ่งที่รองรับ ทำให้เกิดเสียงกระทบจากแผ่นไม้ หรือแผ่นโลหะดังกล่าว ใช้ตีในการบรรเลงมโหรีโบราณ เล่นเพลงเรือ และโขนละคร

ระนาด
                 น่าจะมีวิวัฒนาการจากกรับหลาย ๆ อัน มาวางเรียงตีให้เกิดเสียง แล้วเอามาวางบนรางเพื่อให้อุ้มเสียงได้ แล้วใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่างๆ แล้วจึงไว้บนราง ตีแล้วเกิดเสียงกังวาล ลดหลั่นกันไปตามลูกระนาด ระนาดที่ให้เสียงแกร่งกร้าว อันเป็นระนาดดั้งเดิมเรียกว่า ระนาดเอก ที่ให้เสียง นุ่ม ทุ้ม เรียกว่า ระนาดทุ้ม



ระนาดเอก ที่ให้เสียงนุ่มนวล นิยมทำด้วยไม้ไผ่บง ถ้าต้องการ ให้ได้เสียงเกรียวกราว นิยมทำด้วยไม้แก่น ลูกระนาดมี ๒๑ ลูก ลูกที่ ๒๑ หรือลูกยอด จะมีขนาดสั้นที่สุด ลูกระนาด จะร้อยไว้ด้วยเชือกติดกันเป็นผืนแขวนไว้บนราง ซึ่งทำด้วย ไม้เนื้อแข็งรูปร่างคล้ายเรือ ด้ามหัวและท้ายโค้งขึ้นเพื่อให้อุ้มเสียง มีแผ่นไม้ปิดหัวและท้ายรางเรียกว่า "โขน" ฐานรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า "ปี่พาทย์ไม้แข็ง" ไม้ตีอีกชนิดหนึ่งทำด้วยวัสดุที่นุ่มกว่า ใช้ผ้าพัน แล้วถักด้ายสลับ เวลาตีจะให้เสียงนุ่มนวล เมื่อผสมเข้าวงเรียกว่า "ปี่พาทย์ไม้นวม

ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมลูกระนาดทำด้วยทองเหลือง จึงเรียกกันว่าระนาดทอง ในเวลาต่อมาได้มีการประดิษฐ์ลูกระนาดด้วยเหล็ก ระนาดเอกเหล็กมีจำนวน 20 หรือ 21 ลูก โดยวางไว้บนรางที่มีไม้ระกำวางพาดไปตามของราง หากไม่มีไม้ระกำ ก็อาจใช้ผ้าพันไม้แล้วนำมารองลูกระนาดก็ได้ ลูกต้น ของระนาดเอกเหล็กมีขนาด 23.5 ซม กว้างประมาณ 5 ซม ลดหลั่นขึ้นไปจนถึงลูกยอดที่มีขนาด 19 ซม กว้างประมาณ 4 ซม รางของระนาดเอกเหล็กนั้น ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเท้ารองรับไว้ทั้ง 4 ด้านหรืออาจใส่ลูกล้อเพื่อสะดวกในการขนย้ายก็ได้
             ระนาดเอกเหล็กบรรเลงเหมือนระนาดเอกทุกประการ เพียงแต่ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้นำ

          
       ระนาดทุ้ม เลียนแบบระนาดเอก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลูกระนาดมีจำนวน ๑๗-๑๘ ลูก ตัวลูกมีขนาดกว้างและยาวกว่าของระนาดเอก ตัวรางก็แตกต่าง จากระนาดเอก คือเป็นรูปคล้ายหีบไม้แต่เว้ากลาง มีโขนปิดหัวท้าย มีเท้าอยู่สี่มุมราง ไม้ตีตอนปลายใช้ผ้าพันพอกให้โต และนุ่ม เวลาตีจะได้เสียงทุ้ม
          ระนาดทุ้มใช้บรรเลงในวงปีพาทย์ทั่วไป มีวิธีการบรรเลง แตกต่างไปจากระนาดเอก คือไม่ได้ยึดการบรรเลงคู่ ๘ เป็นหลัก




                ที่มา ::   http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=banrakthai&date=22-08- 2008&group=11&gblog=1
ประเภทเครื่องสี 
เป็นเครื่องสายที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้คันชักสีเข้ากับสายในดนตรีไทยเรียกว่า ซอ ซึ่งมีอยู่ ๓ ชนิด ด้วยกัน คือ ซอสามสาย ซออู้ และซอด้วงที่เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านได้แก่ สะล้อ สำหรับประเทศทางตะวันตก เครื่องดนตรีประเภทนี้ได้แก่ ไวโอลินและไวโอลา เป็นต้น





ซอด้วง เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย ให้เสียงสูงแหลม การที่ได้ชื่อนี้เพราะส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียง มีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ด้วง มีส่วนประกอบ ดังนี้
          - กระบอก เป็นส่วนที่อุ้มเสียงให้เกิดกังวาน รูปร่างเหมือนกระบอกไม้ไผ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งบางทีทำด้วยงาช้าง ไม้ที่ใช้ทำต่างชนิดกันจะให้คุณภาพเสียงต่างกัน เช่น เสียงนุ่ม เสียงกลม เสียงแหลม เป็นต้น ด้านหน้าของกระบอกมีวัสดุบาง ๆ ขึงปิด นิยมใช้หนังงูเหลือม นอกนั้นอาจเป็นหนังลูกวัว หนังแพะ หรือใช้กระดาษว่าวปิดซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นก็ได้
          - คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้าง ลักษณะกลมยาว สอดปักที่กระบอกตั้งตรงขึ้นไป แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงบนตั้งแต่ใต้ลูกปิดขึ้นไปจนถึงปลายคัน รูปร่างคล้ายโขนเรือ เรียกว่า "โขน" ปลายโอนโค้งงอนไปทางด้านเปิดของกระบอก ช่วงล่วงนับตั้งแต่ลูกบิดลงไปเรียกว่า "ทวนล่าง"
          - ลูกบิด มีอยู่สองลูก เสียบอยู่ที่ช่วงล่างของโขน ปลายลูกบิดเจาะรูไว้สำหรับร้อยสายซอ เพื่อขึงให้ตึงตามที่ต้องการ ลูกบิดลูกบน สำหรับสายเสียงต่ำ เรียกว่า ลูกบิดสายทุ้ม ลูกบิดลูกล่าง สำหรับสายที่มีเสียงสูง เรียกว่า ลูกบิดสายเอก
          - รัดอก เป็นบ่วงเชือกสำหรับรั้งสายซอ นิยมใช้ขนาดเดียวกับสายเอก ใช้ผูกรั้งสายซอทั้งสองเข้ากับทวนล่าง
          - หย่อง เป็นไม้ชิ้นเล็กใช้หมุนสายซอให้พ้นขอบกระบอก และเป็นตัวรับความสั่นสะเทือนจากสายซอไปสู่หน้าซอ
          - คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง รูปโค้ง ด้ามมือจับมีหมุดสำหรับให้เส้นหางม้าคล้อง อีกด้านหนึ่งเจาะรูไว้ร้อยเส้นหางม้า ซึ่งมีประมาณ ๒๕๐ เส้น สอดเส้นหางม้าให้อยู่ภายในระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม สำหรับสี
การเทียบเสียง เทียบเสียงให้ตรงกับเสียงขลุ่ยเพียงออ ทั้งสายเอกและสายทุ้ม โดยใช้สายเอกเป็นหลัก              
ตัวอย่างการเล่น "ซอด้วง"


ซออู้ เป็นซอที่มีเสียงทุ้มกังวาน ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายซอด้วง มีส่วนประกอบ ดังนี้
          - กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดส่วนที่กว้างใกล้กับขั้ว ให้พูทั้งสามอยู่ด้านบน ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะ ขึงเป็นหน้าตรงที่ตัด
          - คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้างกลึง แบ่งเป็นสองส่วน คือ ทวนบน นับตั้งแต่ลูกบิด ไปถึงปลายคัน ทวนล่างนับตั้งแต่ลูกบิดลงมาที่ตัวคันมีลวดหรือลูกแก้วคั่นเป็นระยะ ปลายทวนล่างสอดทะลุ กะโหลกลงไป เพื่อคล้องสายซอทั้งสองเส้น
          - ลูกบิด มีสองลูก เสียบอยู่ที่ทวนบน ใช้ขึงสายซอ ซึ่งทำให้ด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียว หรือทำด้วยเอ็นผูกคล้องปลายทวนล่างสุด ลูกบนสำหรับสายทุ้ม ลูกล่างสำหรับสายเอก
          - รัดอก เป็นบ่วงเชือกใช้ลูกล่างสำหรับสายเอกรั้งสายซอ เพื่อให้ได้คู่เสียงสายเปล่าชัดเจน
          -หมอน เป็นวัสดุที่วางหมุนระหว่างหน้าซอกับสายซอเพื่อให้ได้เสียงกังวาล บางทีเรียกว่า หย่อง
          - คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงให้ได้รูป ขึงเส้นหางม้า ประมาณ ๒๕๐ เส้น เส้นหางม้านี้จะสอดเข้าระหว่าง สายเอกกับสายทุ้ม
          การเทียบเสียง สายเอกมีระดับเสียงตรงกับสายทุ้มของซอด้วง สายทุ้มมีเสียงต่ำกว่าสายเอก ๕ เสียง

             ตัวอย่างการเล่น "ซออู้"


ซอสามสาย เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย มีมาแต่โบราณ มีเสียงไพเราะ นุ่มนวล รูปร่างวิจิตรสวยงามกว่าซอชนิดอื่น ถือเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง ใช้ในราชสำนัก มีส่วนประกอบ ดังนี้
          - กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดตามด้านขวาง ด้านหน้าต่อติดกับกรอบไม้เนื้อแข็ง เดิมนิยมใช้ไม้สักเรียกว่า "ขนงไม้สัก" มีรูปร่างคล้ายกรอบหน้านาง ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะขึงปิดทับขอบขนงไม้สักและขอบกะลาให้ตึงพอดี
          - คันซอ แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ทวนบน ทวนกลาง และทวนล่าง ทวนบน คือ ส่วนที่นับจากรอบต่อเหนือรัดอกขึ้นไป ทวนกลาง คือ ส่วนต่อจากทวนบนลงมาถึงกะโหลก ทวนล่างหรือแข้งไก่ คือ ส่วนที่ต่อจากกะโหลก ลงไปรวมทั้งเข็มที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งอยู่ปลายล่างสุด
          - ลูกบิด มีสามลูก ลูกล่างสำหรับสายเอก ลูกบนสำหรับสายกลาง สองลูกนี้อยู่ทางขวา ทางซ้ายมีลูกเดียว สำหรับสายทุ้ม หรือสายสาม
          - รัดอก มักใช้สายไหมฟั่นเกลียวแบบสายซอ พันรอบทวนกลาง ใช้รัดสายทั้งสาม ให้แนบเข้ากับทวนกลาง เพื่อให้เสียงของสายเปล่าได้ระดับและมีความกังวาน
          - หย่อง ทำด้วยไม้หรืองา เหลาเป็นรูปคันธนูให้ได้ขนาดพอรับสายซอทั้งสามสาย บนหย่องบากร่องไว้ สามตำแหน่ง เพื่อรองรับสายซอ
          -ถ่วงหน้า ทำด้วยแก้วหรือโลหะ ขึ้นรูปเป็นตลับกลมเล็ก ๆ ข้างบนประดับพลอยสีต่าง ๆ หรือถม หรือลงยา ภายในบรรจุสีผึ้งผสมตะกั่ว เพื่อให้ได้น้ำหนัก ใช้ชันปิดหน้า ใช้ปรับเสียงให้สายเอกเข้ากับสายทุ้ม
          - หนวดพราหมณ์ ใช้สายไหมฟั่นเกลียวอย่างสายซอ ผูกเป็นสายบ่วง ร้อยเข้าไปในรูที่ทวนล่าง เพื่อรั้งปมปลายสายซอทั้งสาม
          - คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งและเหนียว กลึงให้ได้รูป ขึงด้วยขนหางม้าสีขาวประมาณ ๒๕๐-๓๐๐ เส้น
ตัวอย่างการเล่น "ซอสามสาย"


ประเภทเครื่องดีด
คือ  เครื่องดนตรีที่มีสายเสียงเป็นสะพานวางสาย แล้วใช้ไม้ตัดปลายแหลมทู่ เป็นเครื่องมือดีดสายร่วมกับใช้นิ้วมือซึ่งจะคอยกดปิดเปิดเสียงตามฐานเสียงระดับต่างๆเครื่องดนตรีประเภทดีด  ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน  คือ  จะเข้ นอกจากนั้นก็เป็น พิณ และ กระจับปี่     ซึ่งมีผู้นำมาบรรเลงบ้างเป็นครั้งคราว 


กระจับปี่ เป็นพิณชนิดหนึ่ง มี ๔ สาย กระพุ้งพิณมีลักษณะ เป็นกล่องแบน รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูมุมมนด้านหน้าทำเป็นช่อง ให้เสียงกังวาน ทวนทำเป็นก้านเรียวยาวและกลมกลึงปลายแบน และงอนโค้งไปด้านหลัง ตรงปลายทวนมีลิ่มสลักเป็นลูกบิดไม้ สำหรับขึ้นสาย ๔ ลูก สายส่วนมากทำด้วยสายเอ็น หรือลวดทองเหลือง ตลอดแนวทวนด้านหน้าทำเป็น "สะพาน"หรือ นม ปักทำด้วยไม้ เขาสัตว์หรือกระดูกสัตว์ สำหรับหมุนสายมี ๑๑ นมกระจับปี่พัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งของอินเดีย มีต้นกำเนิดจากการดีดสายธนูตามหลักฐานพบว่า กระจับปี่มีมาตั้งแต่ สมัยสุโขทัย
ตัวอย่างการเล่น "กระจับปี่"




                 
จะเข้ สัณนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากมอญ เดิมทำเป็น รูปร่างเหมือน จระเข้ ไทยใช้จะเข้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และคงเล่นอย่างบรรเลงเดียว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้นำจะเข้เข้ามาผสมแทนกระจับปี่ เพราะเสียงดีกว่าและดีดได้สะดวกกว่า
          จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่วางดีดตามแนวนอน ทำด้วยไม้ท่อนขุดเป็นโพรงอยู่ภายใน นิยมใช้ไม้แก่นขนุน เพราะให้เสียงกังวาลดี ด้านล่างเป็นพื้นไม้ ซึ่งมักใช้ไม้ฉำฉา เจาะรูไว้ให้เสียงออกดีขึ้น มีขาอยู่ตอนหัว ๔ ขา ตอนท้าย ๑ ขา มีสาย ๓ สาย คือ สายเอก(เสียงสูง) สายกลาง(เสียงทุ้ม) ทั้งสองสายนี้ทำด้วยเอ็นหรือไหมฟั่นเป็นเกลียว สายที่สามเรียก สายลวด(เสียงต่ำ) ทำด้วยลวดทองเหลือง ทั้งสามสายนี้ขึงจากหลักตอนหัวผ่าน โต๊ะ (กล่องทองเหลืองกลวง) ไปพาดกับ "หย่อง" แล้วสอดลงไปพันกันด้านลูกบิด(ปักทำด้วยไม้หรืองา) สายละลูก โต๊ะนี้ทำหน้าที่ขยายเสียงของจะเข้ให้คมชัดขึ้น ระหว่างราง ด้านบนกับสายจะเข้ จะมีชิ้นไม้เล็ก ๆ ทำเป็นสันหนาเรียกว่า "นม" ๑๑ นม วางเรียงไปตามแนวยาว เพื่อรองรับการกด จากนิ้วมือขณะบรรเลง นมเหล่านี้มีขนาดสูงต่ำลดหลั่นกันไป ทำให้เกิดเสียงสูง-ต่ำ เวลาดีดจะใช้ไม้ดีดที่ทำด้วยงาหรือเขาสัตว์ กลึงเป็นท่อนกลม ปลายเรียวแหลมมน ดีดปัดสายไปมา ไม้ดีดนี้จะพันติดกับนิ้วชี้มือขวา ส่วนมือซ้ายใช้กดนิ้วบนสายถัดจากนม ไปทางซ้ายเล็กน้อย เพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามที่ต้องการ
                 ตัวอย่างการเล่น "จะเข้"

             
                   

พิณน้ำเต้า สันนิษฐานว่า พิณมีกำเนิดในประเทศ ทางตะวันออก พิณโบราณเรียนพิณน้ำเต้า ซึ่งมีลักษณะเป็น พิณสายเดี่ยว สันนิษฐานว่าชาวอินเดียนำมาแพร่หลาย ในดินแดนสุวรรณภูมิ การที่เรียกว่าพิณน้ำเต้า เพราะใช้ เปลือกผลน้ำเต้ามาทำ คันพิณ
          ที่เรียกว่า ทวน ทำด้วยไม้เหลา ให้ปลายข้างหนึ่ง เรียวงอนโค้งขึ้นสำหรับผูกสาย ที่โคนทวน เจาะรูแล้วเอาไม้มาเหลาทำลูกบิด สำหรับบิดให้สายตึงหรือหย่อน เพื่อให้เสียงสูงต่ำ สายพิณมีสายเดียวเดิมทำด้วยเส้นหวาย ต่อมาใช้เส้นไหม และใช้ลวดทองเหลืองในปัจจุบัน
          การดีดพิณน้ำเต้า ปกติผู้ดีดจะไม่สวมเสื้อ ใช้มือซ้ายจับทวน เอากะโหลกพิณประกบติดกับเนื้อที่อกเบื้องซ้าย ใช้มือขวาดีดสาย ขยับกะโหลกปิดเปิดที่ทรวงอก เพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวานตามที่ต้องการ ใช้นิ้วมือซ้ายช่วยกดหรือเผยอ เพื่อให้สายตึงหย่อน การดีดจะประสานกับเสียงขับร้องของผู้ดีดเอง


>> ดนตรีไทย <<
      เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของไทย ได้รับอิทธิพลมาจาก ประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และอื่น ๆ เครื่องดนตรีมี 4 ประเภท ดีด สี ตี เป่า

>>  ประวัติ  <<  
     ในสมัยกรุงพระสุโขทัย ดนตรีไทยมีลักษณะเป็นการขับลำนำ และร้องเล่น วรรณคดี "ไตรภูมิพระร่วง" กล่าวถึงเครื่องดนตรี ได้แก่ ฆ้อ กลอง ฉิ่ง แฉ่ง (ฉาบ) บัณเฑาะว์ พิณ ซอ ปี่ไฉน ระฆัง กรับ และกังสดาล
       สมัยกรุงศรีอยุธยา มีวงปี่พาทย์ที่ยังคงรูปแบบปี่พาทย์เครื่องห้าเหมือนเช่นสมัยกรุงสุโขทัย แต่เพิ่มระนาดเอกเข้าไป นับแต่นั้นวงปี่พาทย์จึงประกอบด้วย ระนาดเอก ปี่ใน ฆ้องวงใหญ่ กลองทัด ตะโพน ฉิ่ง ส่วนวงมโหรีพัฒนาจากวงมโหรีเครื่องสี่ เป็นมโหรีเครื่องหก เพิ่มขลุ่ย และรำมะนา รวมเป็นมี ซอสามสาย กระจับปี่ ทับ (โทน) รำมะนา ขลุ่ย และกรับพวง
       ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มจากรัชกาลที่ 1 เพิ่มกลองทัดเข้าวงปี่พาทย์อีก 1 ลูก รวมเป็น 2 ลูก ตัวผู้เสียงสูง ตัวเมียเสียงต่ำ รัชกาลที่ 2 ทรงพระปรีชาสามารถการดนตรี ทรงซอสามสาย คู่พระหัตถ์คือซอสายฟ้าฟาด และทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทย บุหลันลอยเลื่อน รัชสมัยนี้เกิดกลองสองหน้าพัฒนามาจากเปิงมางของมอญ พอในรัชกาลที่ 3 พัฒนาเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มคู่กับระนาดเอก และฆ้องวงเล็กให้คู่กับฆ้องวงใหญ่
       รัชกาลที่ 4 เกิดวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่พร้อมการประดิษฐ์ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก รัชกาลที่ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงคิดค้นวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ ในรัชกาลที่ 6 นำวงดนตรีของมอญเข้าผสมเรียกวงปี่พาทย์มอญโดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มีการนำอังกะลุงเข้ามาเผยแพร่เป็นครั้งแรก และนำเครื่องดนตรีต่างชาติ เช่น ขิม ออร์แกนของฝรั่งมาผสมเป็นวงเครื่องสายผสม



ที่มา ::  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3% E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2